Dict Vietnam Onlines

Dict Vietnam Onlines
Google

See Vietnam

Loading...

หัวข้อยอดนิยม

culture (9) customs (1) economic (2) Entertainment (4) famous (1) food (7) football (1) gameshow (1) general (1) History (10) language (11) law (1) lifestlye (32) lifestyle (6) Music (1) MV (5) place (1) politic (1) singer (2) socities (5) sport (1) thai (2) travel (6) viet (1) vietnam (18) work (2)

Sunday, August 26, 2007

How Come Saigon Part I

Tortoise Fountain หรือ วงเวียนน้ำพุหลังเต่า ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโฮจิมินห์ จุดที่ถนนPham Ngoc Thach, Vo Van Tan และ Tran Cao Van ตัดกันเป็นวงเวียน ด้านหลัง ไดม่อนพลาซ่า ห่างโบสถ์Notre Dame ไป 200 เมตร น้ำพุหลังเต่านี้มีประวัติคู่กับเมืองนี้มาแต่ช้านาน ถูกสร้างโดยชาวฝรั่งเศสเมื่อปี คศ.1879 โดยเป็นหอคอยถังเก็บน้ำประปา 100 ลบ.ม. มีเสา 8 ต้นวางแปดเหลี่ยม รับถัง ความสูงกว่า 20 เมตร บนยอดหอคอยปูกระเบื้อง รูปแบบโครงสร้างการออกแบบสะท้อนความเป็นไข่มุกตะวันออก อันเป็นที่มาของชื่อเมือง "ไซง่อน" ในขณะนั้น ถ้าใครได้มีโอกาส เห็นโปสการ์ดเก่าๆ ชื่อไซง่อน ได้มีการเรียกกันภายหลังปีศตวรรษที่ 19 ทีนี้คงทำให้เพื่อนๆหลายคนทราบที่มาของชื่อเมืองนี้ รวมทั้งเพลงยอดนิยม Saigon Dep Lam ในเวลาต่อมา นะครับ
ต่อมาใน ปี คศ. 1921 หอแห่งนี้ได้ถูกทำลายลงโดยเนื่องจากสาเหตุที่ไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแบบแปลนทางสถาปัตยกรรม และรายการประกอบแบบการก่อสร้างที่สูญหาย เดิมต้นฉบับแบบแปลนนั้นเอามาจากกรมทหารเรืออังกฤษ แบบได้ถูกส่งไปให้ผู้ว่าการทำเนียบรัฐบาล ส่งต่อไปยังรัฐมนตรีสาธารณสุข สุดท้ายไปยังหน่วยงานท้องถิ่น เป็นไปได้ว่าได้สูญหาย เสียหายจากการขนส่ง หรืออาจถูกมอดปลวกทำลายในห้องเก็บพัสดุ เหตุหลักน่าจะเป็นโครงสร้างที่แตกหักจนเกินที่จะซ่อมแซม แบบแปลนที่สูญหายไป การกักเก็บน้ำประปาไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น คงเป็นอย่างนั้นมากกว่า

หลังจากที่หอนี้ได้ถูกทุบทิ้ง จนในปี คศ.1927 สภาเทศบาลเมืองไซง่อนได้ทำเป็นถนนวงเวียนตั้งชื่อว่า Marechal Joffre Square เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ระลึกถึงการสูญเสียในสงครามโลกปี 1914-1918

ต่อมาในปี 1972 รัฐบาลเวียตนามใต้ได้กลับมาบูรณะแยกดังกล่าวเพื่อเป็นที่ระลึกถึงความร่วมมือของนานาประเทศที่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเวียตนามใต้ในขณะนั้น โดยกลางน้ำพุนั้น เป็นเสาสูง20เมตรห้าต้น เปรียบเหมือนความร่วมมือห้าพันธมิตรดั่งต้นปาล์มห้าต้นค้ำชูลูกโลก ข้างๆเสาทั้งห้าจะเป็นหลังคาทรงหลังเต่าทำด้วยทองแดง โดยด้านบนจะมีแผ่นหินจารึกประเทศพันธมิตรที่ช่วยเหลือเวียตนามใต้ในขณะนั้น(คิดว่าคงมีประเทศไทยด้วยนะ เพราะเราก็ส่งกองกำลังไปช่วยเหลือเขาในขณะนั้น) รวมทั้งมีบันไดสามสิบขั้นโดยมีชานพักบันไดทุกสิบขั้น ทางด้านใต้ของสระน้ำพุถูกยกพื้นเป็นแท่นสูงขึ้นห้าเมตร เพื่อแยกเป็นส่วนของสววรค์และโลกมนุษย์ ซึ่งต่างจากแท่นบวงสรวงของ Nam Giao ที่เมืองเว้(Hue) โดยรูปทรงของแท่นที่ยกสูงนี้จะกลมก็ไม่เชิงเหลี่ยมก็ไม่ใช่ แต่จะเป็นทรงรี สองแกนสิบสองเมตรและเจ็ดเมตร แท่นนี้รับโดยเสาเดี่ยว มีเสาแปดต้นล้อมรอบ บนแท่นจะแท่นบูชาสูงหนึ่งเมตรหันไปทางด้านเหนือ

เมื่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้ส่งมอบงานเนื่องจากชาวเมืองไซง่อนรู้สึกว่าเสาห้าต้นที่แบเหมือนมือที่ขอความช่วยเหลือ ทำให้ไม่เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวเมือง ดังนั้นรัฐบาลจึงทำการดัดแปลงเสาและมือดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนเป็นรูปกลีบดอกไม้ยี่สิบห้าแฉก จนเป็นโครงสร้างดังได้เห็นในปัจจุบัน
ต้นเดือนเมษายนปี 1976 หรือหลังจากเมืองไซง่อนถูกปฏิวัติ วงเวียนดังกล่าวได้ถูกลอบวางระเบิดเมื่อประมาณ สองทุ่ม มีชายหนุ่มเสียชีวิตหนึ่ง อีกสี่คนบาดเจ็บ หลังคาทองแดงหลังเต่าเสียหาย โดยทางตำรวจสรุปว่าเป็นการก่อวินาศกรรมล้มรัฐบาลของชายหนุ่มดังกล่าว ที่ตั้งระเบิดไดนาไมค์ไว้บนหลังเต่านั้นเอง

ปัจจุบันนี้ แม้จะไม่มีเต่าอยู่ที่นั่น แต่ชื่อวงเวียนน้ำพุหลังเต่ายังคงอยู่ มีชีวิตชีวายามค่ำคืน รอบๆมีทั้งค๊อฟฟี่ชอ๊ป ขายของที่ระลึก ร้านรวงต่างๆมากมาย ขึ้นชื่อเรื่องไอศครีมโดยเฉพาะรสกะทิ บริเวณรอบนอกน้ำพุมีต้น โอ๊ค(golden oak) จำนวนมาก มีอายุนับหลายปี ผลของมันจะมีปีกสองข้างเวลาร่วงจะหมุนควงลงมาช้าๆลงดิน ในช่วงฤดูดอกไม้บาน มันจะส่งกลิ่นหอมหวลเวลาผ่านบริเวณนี้
ที่มา:Saigon Times(EN)

Vietnamese Alphabet

ภาษา คำในภาษาเวียดนามกว่า 80% ของภาษามาจากภาษาจีน และยังรวมไปถึงอิทธิพลทางวรรณคดีจีน และยังมีร่องรอยของภาษาฝรั่งเศสด้วย คำที่เข้ามาในพจนานุกรมเป็นครั้งแรกในสมัยจักรวรรดินิยมช่วงศตวรรษที่ 18 ถึง 20 ส่วนภาษาอังกฤษนั้นมาจากชาวอเมริกันในช่วงสงครามเวียดนาม และจากการเป็นพี่น้องร่วมลัทธิคอมมิวนิสต์กับสหภาพโซเวียต เวียดนามก็ได้รับอิทธิพลทางภาษาจากรัสเซีย เพื่อนเวียตเล่าว่าเขาจบจากฮานอยอาจารย์ที่สอนเขาส่วนมากจบจากรัสเซีย แต่ว่าถ้าเป็นอาจารย์รุ่นใหม่จบจากอเมริกา เวลาสอนหลักสูตรจะต่างกัน ทำให้ยังคงเป็นปัญหาทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาโดยเฉพาะเกี่ยวกับวิศวกรรมในเรื่องของการอ้างมาตรฐานมาใช้ยืนยัน เท่าที่ทราบได้มีการรวบรวมตั้งมาตรฐานแล้วเรียกว่า TCVN คนที่จะไปทำงานเกี่ยวกับตรงนี้ต้องศึกษาให้ดี แต่ส่วนมากเท่าที่อ่านดู จะคล้ายกับ JIS(ญี่ปุ่น) ดังนั้นวิชาการของเราก็ใกล้เคียงกันใช้กันได้ มาว่าเรื่องภาษากันต่อซึ่งความจริงแล้วความหมาย และคำศัพท์เฉพาะทางวิชาการต่าง ๆ ของแนวคิดและเทคโนโลยีสมัยศตวรรษ ที่ 20 มักใช้คำภาษา ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซีย และภาษาที่เข้ามาล่าสุดคือภาษาญี่ปุ่น ถ้าเป็นทางใต้ภาษาฝรั่งเศสก็ยังคงนิยม แต่จะสู้ภาษาอังกฤษไม่ได้ ส่วนเกาหลี และญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเช่นกันตามภาวะการลงทุน สำเนียงที่แตกต่างกันในเวียดนามนั้น เผยให้เห็นถึงเอกลักษณ์ที่เหนียวแน่นของภูมิภาค ตัวอักษรบางตัวของพยัญชนะ ออกเสียงต่างกัน ศัพท์ของชาวเหนือและชาวใต้ประกอบด้วยคำที่แตกต่างกัน รากของภาษามาจากการผสมของวัฒน ธรรมที่คล้ายคลึงกัน คือการผสมของ เขมร ไท และเมือง แม้แต่การวางรูปประโยคก็ยังเหมือนกัน

ภาษาเขียนของเวียดนาม : อิทธิพลของจีนในช่วงศตวรรษแรกๆ ของประวัติศาสตร์เวียดนามทำให้มีการใช้ตัวอักษรที่เรียกกัน ว่าจื๋อ โย (chu nho) อย่างกว้างขวางจนแทนที่ภาษาเขียนโบราณที่มีต้นกำเนิดจากภาษาอินเดีย หลังจากได้อิสรภาพ บรรดานักปราชญ์ต่างตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชย์ของการพัฒนาภาษาเขียนที่เป็นของเวียดนามขึ้นมา ผู้ที่ทำได้สำเร็จ คือ เหวียน เทวียน (Nguyen Thuyen) ทุกวันนี้เวียดนามมีตัวอักษรแบบโรมัน อันเป็นผลงานของ อเล็กซองเดร เดอโรดส์ (Alexandre de Rhodes) มิชชันนารีเยซูอิตชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งได้พัฒนาตัวอักษรที่เรียกกันว่า กว๊อก หงือ (quoc ngu)
ที่มาhttp://www.surinmajestic.net

Saturday, August 18, 2007

VietKieu(Yuan) in Thailand Part III

อุปนิสัย ความเป็นอยู่ชาวญวนในไทย
ลักษณะเด่นของชาวเวียดนาม คือ เป็นกลุ่มคนที่มีความขยันขันแข็งและมีความอดทนเป็นพิเศษ แม้คนจีนก็ยังยอมรับว่าคนญวน มีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพมากว่าตน ในเรื่องน้ำอดน้ำทนของคนญวนไม่มีชาติใดในเอเชีย ที่เหนือกว่าคนญวน การที่คนญวนสามารถทนทำสงครามต่อสู้กับสหรัฐอริเมริกาเป็นเวลานานนับ 10 ปี ทั้งๆ ที่ประเทศของตนประสบกับความเสียหายอย่างยับเยิน จากการโจมตีที่ทิ้งระเบิดของสหรัฐ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ อย่างดีถึงความอดทนของคนญวน เมื่อคนญวนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็ตั้งหน้าทำมาหากิน ประกอบกับการที่รัฐบาลไทยในระยะนั้น ได้ให้อุปการะช่วยเหลือ ทำการจัดสรรแบ่งที่ดินให้ทำกิน และให้ยืมทุนในการประกอบอาชีพรวมทั้งปล่อยให้ทำมาหากินโดยอิสระเสรี ไม่มีการกีดกั้นหรือหวงห้ามแต่อย่างใดจึงเป็นผลให้คนญวนสามารถสร้างฐานะความเป็นอยู่ ให้เป็นปึกแผ่นขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดคนญวนก็สามารถสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้เหนือกว่าคนไทยในชุมชน


คนญวนประกอบอาชีพเกือบทุกประเภท นับแต่ด้านการเกษตร การช่างฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ชางเหล็ก ช่างกลึง ช่างนาฬิกา ช่างไฟฟ้าวิทยุ ช่างเย็บเสื้อผ้า ช่างเครื่องยนต์ ต่อตัวถังรถยนต์ อาชีพค้าขายทุกชนิด การประมง การแพทย์ ถ่ายรูป การค้าขายในตลาดสด เป็นต้น ด้วยความขยันหมั่นเพียร และการมีน้ำอดน้ำทน สามารถประกอบอาชีพได้ทุกชนิดโดยไม่มีการรังเกียจ ผลจึงปรากฎว่า ชุมชนใดที่มีกลุ่มชาวญวนอยู่ อิทธิพลทางเศรษฐกิจจะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่
ด้านสังคม ในท้องถิ่นที่มีคนญวนอาศัยอยู่ คนญวนจะรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น คบค้าสมาคมเฉพาะคนญวนด้วยกัน สรุปแล้วในด้านสังคมส่วนมากคนญวน แสดงออกโดย


(1) ใช้เวลาว่างเล่นกีฬาทุกชนิด กีฬาที่นิยมเล่นได้แก่ฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล เป็นต้น จุดประสงค์ของการเล่นกีฬา ก็เพื่อปลูกฝังความสามัคคี ในหมู่คนญวน
(2) จัดงานแสดงออกซึ่งพลังแห่งความสามัคคี ในวันสำคัญของตน เช่น วันเกิดโฮจิมินห์ วันชาติเวียดนาม เป็นต้น เพื่อปลูกจิตสำนึกให้รักชาติ รักและบูชาโฮจิมินห์

ฉะนั้นสังคมโดยสรุปแล้ว ชาวญวนต้องการมีอิสระเสรีที่จะเดินทางไปไหนมาไหนได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับที่ทางการกำหนดไว้ สำหรับคนญวนอพยพ และชาวญวนส่วนมากไม่ต้องการเดินทางกลับเวียดนาม ถึงจะรักภักดีต่อประเทศเวียดนามก็ตาม สาเหตุเพราะ ในระยะหลัง ได้มีญวนรุ่นใหม่เกิดขึ้น ญวนกลุ่มใหม่นี้ไม่เห็นประเทศเวียดนามมาก่อน ความ รู้สึกผูกพันในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของบิดามารดา ก็ย่อมไม่แน่นแฟ้นเหมือนญวนรุ่นเก่า และชาวญวนยังเคยชินต่อระบบเศรษฐกิจแบบเสรี มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย เมื่อเทียบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนญวนในเวียดนาม จึงไม่ปรารถนาที่จะกลับเวียดนามและพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย

การศึกษาสูง ๆ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ญวนต้องการมีสัญชาติไทย เด็กญวนที่เกิดในเมืองไทย ทางราชการได้ผ่อนปรนให้เข้าเรียนในระดับต้นๆ ในท้องถิ่นที่ญวนอาศัยอยู่ แต่การศึกษาในระดับสูง ๆ นั้น มีปัญหาเพราะต้องใช้หลักฐานหลายอย่างที่คนญวนอพยพไม่มี เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เด็กญวน ที่ต้องการเรียนต่อ ต้องหาทางให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย และอีกทางที่ทำได้ก็คือการให้คนไทยรับเป็นบุตรบุญธรรมด้วยวิธีการ ทำให้มีลูกหลานญวน ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย
ที่มาhttp://www.surinmajestic.net

Friday, August 17, 2007

VietKieu(Yuan) in Thailand Part II

ประวัติชนชาวญวน / เวียตนาม / อานัม / แกว ในประเทศไทย
ในอดีต ชาวเวียดนาม เข้ามาอาศัยในประเทศไทยมีสถานะเป็น“ญวนอพยพ” อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันชาวเวียดนามเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องจากรัฐไทย และกลายมาเป็นสะพานทางวัฒนธรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ไม่ว่าจะในด้านภาษาโดยการเป็นครูสอนภาษาเวียดนามให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการไทย และ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการเวียดนามที่เดินทางมาเรียนภาษาในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดในภาคอีสาน นอกจากนี้ ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังมีบทบาทในการเป็นผู้ประสานงาน เป็นล่ามให้แก่หน่วยงานราชการและเอกชนไทยและเวียดนาม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งหมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนามที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม และบ้านโห่จี๋มิงห์ ที่บ้านหนองโอน จังหวัดอุดรธานี อีกทั้ง มีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย การเผยแพร่อาหารเวียดนาม เป็นต้น

การบูชาบรรพบุรุษ : ภายในบ้านของคนเวียดนาม และภายในวัดทุกแห่งจะพบแท่นบูชาบรรพบุรุษการบูชาบรรพบุรุษยังคงมีความสำคัญทางสังคมและศิลธรรมอย่างสูงในสังคมเวียดนาม ในวันครบรอบวันตาย และวันเทศกาลตามประเพณีต่างๆ ญาติของผู้ตายจะมาชุมนุมกันโดยลูกชายคนโตของผู้ตายจะเป็นผู้นำในการเซ่นไว้ด้วยอาหารและธูป จากนั้นคนในครอบครัวทั้งหมดจะไปที่สุสานของผู้ตาย พิธีจบลงด้วยสมาชิกในครอบครัว คุกเข่าลงหน้าแท่นบูชา ความล้มเหลวในการบูชาบรรพบุรุษของลูกหลานจะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่แสดงถึงความอกตัญญูต่อบิดามารดา เพราะทำให้บรรพบุรุษต้องเร่ร่อนอยู่ในนรก

การบูชาในระดับหมู่บ้าน: ในทางปฏิบัติแล้วหมู่บ้านเวียดนามทุกแห่งจะมีจั่ว (chua-ที่วัด) และดิงห์ (dinh - ศาลาประชาคม) ชาวบ้านจะบูชาพระพุทธเจ้าจั่ว ซึ่งดูแลรักษาโดยภิกษุจำพรรษาอยู่ที่นั้น ทุกวันที่ 1 และ 15 ค่ำชาวบ้านจะไปที่จั่ว โดยนำดอกไม้ธูปเทียนและผลไม้ไปถวายพระพุทธ และประกอบพิธีที่วัดในตอนเย็นของวันที่ 14 และ 30 ของเดือนเพื่อแสดงความเสียใจในสิ่งที่ไม่ดีที่ได้กระทำลงไป และปฏิญาณว่าจะประพฤติในสิ่งที่ดีการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธในระดับหมู่บ้านจะไม่เหมือนกับของเซน เป็นการผสมผสานระหว่างเซนกับอมิตาภะ เป็นที่เชื่อกันว่าอมิตาภะจะได้สภาวะแห่งพุทธภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่ท่านได้ต้อนรับคนทุกคนที่เรียกชื่อท่านอย่างจริงใจเวลาตาย และจะนำพวกเขาไปยังสวรรค์

ศาสนาพุทธ :ได้รับการเผยแพร่เข้ามาจากอินเดียและจีน กว่าพันปีแล้ว ผู้เชียวชาญในสาสนาพุทธชาวเวียดนามคนหนึ่งถูกส่งตัวไปยังราชสำนักญี่ปุ่นเพื่อสอนบทเพลงทางสาสนาซึ่งปรากฏลัทธิ 2 ลัทธิ คือ อาอาม (A -HAM, Agaham ) และเทียน (Thien) ต่างแข่งขันกันอย่างสันติภาพในหมู่ผู้เลื่อมใสศรัทธา ลัทธิเทียนเป็นลัทธิหนึ่งในศาสนาพุทธนิกายมหายาน เนื่องจากกฎเกณฑ์น้อยทำให้เป็นที่นับถือกันมาก

ลัทธิขงจื้อ: ลัทธิขงจื้อมีอายุยืนยาวมากกว่าระบบความเชื่ออื่นใด ทั้งในโลกตะวันออก และตะวันตก ลัทธินี้มีพื้นฐานมาจากคำสอนของขงจื้อซึ่งเกิดในราวปีที่ 55๐ ก่อนคริสต์กาล และอยู่ในยุคที่จีนมีความวุ่นวายทางการเมือง ขงจื้อได้ชื่อว่าเป็นผู้ชี้นำทางจริยธรรมและศิลธรรมมากกว่าที่จะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ลัทธิขงจื้อเข้ามาสู่ชาวเวียดนามโดยผ่านชาวจีนกว่า 2,๐๐๐ ปี มาแล้ว

ลัทธิเต๋า : เต๋า เต็ก เก็ง (Tao Te Ching) คัมภีร์แห่งมรรคและอำนาจของเต๋าเริ่มต้น ในหมู่บ้านที่มีศาสนาพุทธและขงจื้อ วิญญาณนิยม และความเชื่ออื่นๆ อยู่รวมกัน ในหมู่บ้านเหล่านี้จะมีการสร้างสถานที่สำหรับบูชาที่เรียกกันว่า เดี่ยน (dien) หรือ ติ๋งห์(tinh) ในระดับชาวบ้านเต๋าเป็นเรื่องของความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติเวทมนตร์คาถาและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยอาคม

ศาสนาคริสต์ : ชาวเวียตนาม ส่วนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิค และประเทศเวียดนาม เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยศาสนา ปรัชญาและความเชื่อ แบบวิญญาณนิยมเปลี่ยนไป คาทอลิคมิช ชันนารีตะวันตก พวกแรกได้เข้ามาในตังเกี๋ยทางภาคเหนือของเวียดนาม ในปี 1533 และเข้าสู่ภาคกลางของเวียดนามในปี 1596 การเผยแพร่ครั้งแรกเกิดขึ้นที่ในฮอย อัน (Hoi An) ดานัง และฮานอยโดยคณะมิชชันนารีเยซูอิตชาวโปรตุเกส การเผยแพร่ศาสนาก่อให้เกิดความขัดแย้ง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้กระนั้นคาทอลิค ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง 2 ด้านอย่างแรกคือ การประดิษฐ์ภาษาเขียนแบบโรมัน สองคือการนำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของตรรก แบบตะวันตกเข้ามาการเปลี่ยน แปลงนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นในหมู่ขุนนางและชนชั้นปกครองผู้มองว่าศาสนาใหม่เป็นสิ่งคุกคามระ เบียบสังคมแต่ดั้งเดิมและพิธีกรรมต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเชื่อเรื่องสวรรค์ และการบูชาบรรพบุรุษ

ที่มาhttp://www.surinmajestic.net

VietKieu(Yuan) in Thailand Part I


ประวัติชนชาวญวน / เวียตนาม / อานัม / แกว ในประเทศไทย

ชาวญวน หรือ ที่ชาวอีสานเรียกว่า "แกว"ชนชาติหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน และทางทิศตะวันออกของประเทศลาวและ เขมรคนกลุ่มนี้ มีอุปนิสัยขยันขัน แข็งในการทำมาหากิน จนมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในอดีตได้มีการติดต่อค้าขายกับ ชาวลาวในประเทศลาว และภาคอี สานมานานแล้วและหลังสงคราม โลกครั้งที่สอง เมืองญวนดิ้นรนที่จะเป็นอิสระจากฝรั่งเศส ญวนในภาคเหนือบริเวณเมืองเดียนเบียนฟูได้หนีภัย การเมืองเข้ามาอยู่ในภาคอีสานจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเข้ามาอยู่ในจังหวัดนครพนม สกลนคร เลย อุบลราชธานี หนองคาย สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ระหว่าง พ.ศ. 2489-2492 พวกนี้มักประกอบอาชีพค้าขาย และทำให้อาหารญวนบางชนิดเป็นที่นิยม เช่น ข้าวเฝอ เป็นต้น บ้านชาวญวนส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนบริเวณโคกดิน ลักษณะเหมือนเป็นเกาะเล็กๆ ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังคงพูดภาษาเวียดนาม ในการสื่อสารระหว่างกลุ่ม ซึ่งอาศัยอยู่ตามอำเภอใหญ่ๆ ของจังหวัดสกล นครนั้นได้อพยพมาอยู่ที่ประเทศไทยเป็นกลุ่ม 4 ระยะ คือ

(1) ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในสมัยอยุธยา ธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ ในสมัยอยุธยา ปรากฎว่ามีหมู่บ้านญวนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา สมัยพระนารายณ์มหาราช (2199-2231) จำนวนคนญวนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีประมาณ 5,๐๐๐-8,๐๐๐ คน โดยตั้งรกรากตามสถานที่ต่างๆ คือ อยุธยา จันทรบุรี พาหุรัด(ย้ายไปสามเสน) บางโพ จันทรบุรี สามเสน กาญจนบุรี โดยที่ชาวญวนที่นับถือคริสต์ศาสนาจะอาศัยอยู่ที่จังหวัดจันทรบุรี ส่วนพวกที่นับถือพุทธศาสนาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กาญจนบุรี
(2) ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้ทั้งหมด ชาวคนเวียดนามจำนวนมากจึงอพยพเข้ามาอยู่ประเทศลาว ประเทศเขมร และประ เทศไทย ในประเทศไทยชาวเวียดนามอพยพเข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม สกลนคร อุทัยธานี หนองคาย สุรินทร์ ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ และปราจีนบุรี สำหรับชาวเวียดนามที่มาอาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร นั้นส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่บ้านท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยสรุปได้เข้ามา 3 จุดดังนี้
2.1 ทางสะหวันนะเขต สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทยที่จังหวัด มุกดาหาร อุบลราชธานี สกลนคร หนองคาย อุดรธานี นครพนม
2.2 ทางเวียงจันทร์ สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ฝั่งไทยที่จังหวัดหนองคาย สกลนคร
2.3 ทางท่าแขก สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทยที่จังหวัด นครพนม สกลนคร
(3) ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการสู้รบระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ ชาวเวียดนามจึงอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 48,๐๐๐ คน ซึ่ง ขจัด บุรุษพิพัฒน์ (2521) กล่าวว่า ภายหลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ามาบริหารประเทศ ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้มีมาตรการควบคุมชาวเวียดนามอพยพ อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 15 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ เลย อุบลราชธานี หนองคาย นครพนม บุรีรัมย์ อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ซึ่งชาวเวียดนามอพยพจะอาศัยอยู่นอกเขต 15 จังหวัดนี้ไม่ได้
พ.ศ. 2493 ให้ชาวเวียดนามอพยพมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยบังคับให้เดินทางไปยังจังหวัดควบคุมใหม่ ภายใน 1 เดือน คือ หนองคาย สกลนคร นครพนม อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุดรธานี พ.ศ.2496 รัฐบาลไทยได้จัดส่งหัวหน้าชาวเวียดมนามในจังหวัดหนองคาย สกลนคร และนครพนม ไปไว้ที่จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
พ.ศ. 2503 อนุญาตให้ชาวเวียดนามอพยพอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่กำหนดเขต 8 จังหวัด คือหนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี พัทลุง
(4) ชาวเวียดนามอพยพที่เข้ามาอยู่ในช่วงสงคราม เวียดนามเหนือ-ใต้ เป็นกลุ่มชาวเวียดนามอพยพ ประมาณ 2,๐๐๐-3,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่จะไปอาศัยอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ถิ่นที่อยู่เดิมชาวญวนอพยพ ที่เดินทางมาที่ประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่จะมาจากเวียดนามตอนกลาง และข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย ทางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ จังหวัดสะหวันนะเขต จังหวัดเวียงจันทร์ และ ท่าแขก ชาวญวนอพยพจะอยู่กระจายกันในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามหัวเมือง ในปี พ.ศ.2503 ชาวเวียดนามอพยพที่เดินทางเข้ามาที่ จ.สกลนคร นั้น มีชาวเวียดนามบางส่วน ได้กลับประเทศเวียดนามแล้วแต่ยังคงเหลือตกค้างอยู่ เนื่องจากเกิดสงครามเวียดนามเหนือเวียดนามใต้ โดยในขั้นต้นชาวเวียดนามอพยพอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของศูนย์ประสานงาน กอ.รมน. และสำนักงานกิจการญวนอพยพ กำหนดให้ชาวเวียดนามอพยพเหล่านี้อยู่ในเขตควบคุม 8 จังหวัด คนเวียดนามได้รับการดูแล การจัดทำทะเบียนประวัติ การศึกษา การปลูกฝังให้มีความรู้ความเป็นคนไทย สามารถผสมผสานกลมกลืนเข้าสู่สังคมไทยจนในที่สุดก็มีชาวเวียดนามจำนวนมากได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลไทยให้ได้สัญชาติไทย โดยเรียกว่า “คนไทยเชื้อสายเวียดนาม” อยู่อาศัยมานานจนได้รับเชื้อชาติไทย ปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ป ระกอบอาชีพข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น มีบทบาทต่อการปกครอง และเศรษฐกิจของจังหวัด ในปี พ.ศ. 2545 คนเวียดนาม อพยพที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว ที่อาศัยอยู่ในเมืองสกลนคร ทั้งสิ้น 1,851 คน จากการที่ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามได้อาศัยอยู่อย่างกลมกลืนกับชาวไทยในจังหวัดสกลนคร และ จังหวัดใกล้เคียง มานาน 6๐ ปี แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งทางด้านภาษา สังคม วัฒนธรรม
ที่มาhttp://www.surinmajestic.net

Sunday, August 12, 2007

Vietnamese Martial Art Part II

ตัวอย่างรูปแบบการต่อสู้แบบ Vovinam พอให้เห็นภาพคร่าวๆของ หว๋อ ด่าว Play/Stop MV Please Right Click Loop Then Play/Stop Below

Saturday, August 11, 2007

Vietnamese Martial Art Part I

ตอนที่อยู่โฮจิมินห์ ตอนช่วงเย็นผมชอบขับรถชมเมือง ช่วงตอนเย็นประมาณหกโมง ผมผ่านวัดแถวถนน Xo Viet Nghe Tinh จะไป วงเวียนห่างซัน ได้ยินเสียงการฝึกซ้อมหมัดมวยทุกคนสวมชุดสีหมากแก่ รำกระบี่ กระบอง ผมเคยเห็นเขาเรียนศิลปการต่อสู้อย่างนี้มาครั้งหนึ่งตอนขับรถผ่านไปเที่ยวแถววัดแห่งหนึ่งในเขตบินห์ยืงไม่ไกลจากที่ทำงานนิคมVSIP ผมยืนดูเขาประลองกำลังกัน ดูแล้วสนุกดี แต่ก็ไม่ทราบว่าเขาเล่นอะไรกัน

Việt Võ Đạo เหวียด หว๋อ ด่าว เป็นศิลปการต่อสู้ชาวเวียตนาม โดยมากเราจะรู้จักกันในชื่อของ วูซู กันซะมากมากกว่า ตามความหมายแล้ว Việt=ชาวเวียตVõ=ศิลปการต่อสู้ หรือ มวยĐạo=กระบวนยุทธ หรือ Do(ซู)ในระหว่างและหลังสงครามเวียตนาม ศิลปการต่อสู้ซึ่งผมขอเรียกว่า หว๋อ ด่าว ได้แพร่หลายไปทั่วโลกตามชุมชนที่ชาวเวียตนามอาศัยอยู่ จนได้ก่อตั้งเป็น สมาพันธ์เหวียด หว๋อ ด่าว ขึ้นในเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1973 อันประกอบไปด้วยสมาคม


-Vovinam มีสำนักในประเทศเยอรมัน
-Qwan Ki Do-Bach Hac
-Thang Long
-อื่นๆ

ศิลปการต่อสู้นี้ได้พัฒนาเสริมส่วนปรัชญาการดำรงชีวิตโดยใช้ชื่อเรียกว่า Nhan Võ Đạo (ยัน หว๋อ ด่าว) โดยศิลปการต่อสู้นี้ได้มีการประยุกต์เพื่อให้เหมาะกับสรีระของชาวยุโรป ปลายปี 1980 โดยปรมาจารย์ จู ตัน เกิ่ง(Chu Tan-Cuong) ที่เมืองHalle ประเทศเยอรมัน โดยตัวท่านเองได้รับการถ่ายทอดวิชาตั้งแต่เด็กจากปรมาจารย์ เหวียน ตี้(Nguyen Ty) เจ้าสำนักเส้าหลินใต้(Shaolin Nam Hong Son) นับถึงปัจจุบันท่านเป็นผู้ที่มีวรยุทธสูงส่งเชี่ยวชาญทุกแขนงติดอันดับโลก จะว่าไปแล้วหว๋อด่าวก็เป็น มวยจีนตอนใต้ อย่างที่เราดูในหนังจีนต่อสู้แบบโบราณที่บ้านเรา

ระดับของผู้ฝึก หว๋อ ด่าว มี 6 ระดับ และมีระดับเอกมากกว่าหนึ่งระดับ ผู้ฝึกจะฝึกต่อสู้ด้วยมือเปล่า ฝึกการต่อสู้ด้วยพลองหรือหอก และ ดาบ ระดับสูงจะได้ฝึกหมัดมวย ดังนั้นภาพรวมของมวย จึงเป็นลักษณะของการป้องกันตนเอง หมัดมวย ฝึกลมปราณ รับแล้วรุกจากการโจมตี ส่วนการเตรียมตัวเพื่อไปสู่ระดับเอกหรือมาสเตอร์นั้น จะต้องผ่านการทดสอบปฎิภาณและไหวพริบ

สัญลักษณ์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์หยินหยาง(Âm-dương) ไม่แข็ง ไม่อ่อน อย่างต้นไผ่ รวมกันภายใต้สัญลักษณ์แปดเหลี่ยม ชาวเวียตนามให้ความสำคัญกับต้นไผ่มาก เพราะวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องเป็นทั้งอาหาร เครื่องใช้ ที่อยู่อาศัยรวมทั้งปรัญชาชีวิต