บันทึกจากท้องถิ่น
เห็นเวียดนามผ่านกบฏชาวนา กวางจุง [QUANG TRUNG]วีรบุรุษผู้รวมชาติ
โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
การเห็นประวัติศาสตร์จากภายในกลายเป็นเรื่องสําคัญของการศึกษาสังคมข้ามวัฒนธรรมหรือสังคมอื่นอย่างจําเป็นของเวียดนามสําหรับคนไทย การรับรู้ทางประวัติศาสตร์ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องกบฏไตเซินซึ่งเป็นเหตุให้องเชียงสือพร้อมครัวญวนต้องหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ที่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง จนได้รับพระราชทานกองทัพไปตีเมืองไซง่อนครั้งหนึ่ง อยู่ได้กว่า 5 ปีก็ลอบกลับบ้านกลับเมืองไปโดยไม่บอกให้ใครรู้ เป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทขุ่นเคืองและไม่ไว้ใจทัพญวนทางทะเล จนเป็นเหตุให้มีพระราชประสงค์ให้สร้างเมืองพระประแดงพร้อมป้อมขึ้นใหม่เพื่อเป็นเมืองด่านป้องกันศึกทางปากน้ำ องเชียงสือและกบฏไตเซินคือภาพของ ผู้ทรยศและกบฏ ในสายตาของคนไทยและประวัติศาสตร์ไทยแต่สําหรับชาวเวียดนาม ประวัติศาสตร์ที่ฝากร่องรอยและความทรงจําแห่งสงครามอย่างยาวนานและไม่ว่างเว้น กบฏไตเซิน คือวีรบุรุษสามัญชนผู้รวบรวมกองกําลังชาวนาเพื่อปลดแอกจากระบบภาษีที่เอาเปรียบรวมชาติเหนือและใต้ให้เป็นแผ่นดินเดียว ชาวเวียดนามเรียนรู้และซึมซับ ความรักชาติ [Patriotism] จากวีรกรรมของพี่น้องตระกูลเหวียนแห่งหมู่บ้านไตเซินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสําคัญของประวัติศาสตร์เวียดนามยุคหนึ่ง และไม่เคยมีคําว่าผู้ทรยศสําหรับ องเชียงสือที่ต่อมาคือ จักรพรรดิญาลองปฐมกษัตริย์ผู้สร้างพระราชวังเมืองเว้และปกครองบ้านเมืองในฐานะ "เวียดนามประเทศ" ได้เป็นครั้งแรกแท้จริงแล้ว
สําหรับ กษัตริย์กวางจุง [QUANG TRUNG ] หรือ[Nguyen Hue] ( พ.ศ.2295-2335) ผู้เติบโตที่หมู่บ้านไตเซินในจังหวัดเหงียบินห์ ทางภาคกลางของเวียดนามเป็นพี่ชายคนที่สองของสามพี่น้องคือ เหวียน ธัค, เหวียน เว้ และเหวียน ลู ซึ่งเป็นหญิง [Nguyen Nhac, Nguyen Hue, and Nguyen Lu] ผู้นําในการปฏิวัติจากราชวงศ์เหวียนผู้ครอบครองแผ่นดินทางตอนใต้ของเวียดนาม ในปี พ.ศ.2328 ซึ่งเทียบได้กับช่วงเริ่มราชวงศ์จักรีที่กรุงเทพฯ พี่น้องไตเซินเข้ายึดเมืองหลวงไซง่อนและเริ่มการต่อต้านกลุ่มราชวงศ์ตรินห์ซึ่งครอบครองแผ่นดินทางเหนือเหวียน เว้ มีคําขวัญเพื่อต่อสู้คือ ฟื้นฟูราชวงศ์ลี้ ทําลายราชวงศ์ตรินห์ ภายหลังขึ้นครองราชย์ในชื่อ กวางจุง ตั้งเมืองหลวงที่เว้และส่งบรรณาการให้จีน ทําให้รัฐเป็นปึกแผ่น ปรับปรุงการทหาร ปฏิรูปที่ดิน และเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับตะวันตก ฟื้นความรู้สึกรักชาติเป็นอิสระ วางแผนประเพณีราชสํานักแทนที่แบบจีนฮั่น แต่เขาตายอย่างกะทันหันในพ.ศ.2335 ขณะมีอายุเพียง 39 ปี ลูกชายที่มีอายุเพียงสิบขวบจึงไม่สามารถรักษาบัลลังก์ไว้ได้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจัดสร้าง พิพิธภัณฑ์กวางจุง ที่หมู่บ้านไตเซิน บ้านเกิดของพี่น้องตระกูลเหวียน พิพิธภัณฑ์สร้างในปี พ.ศ.2522 จัดแสดงร่องรอยของชีวิตและผลงานกษัตริย์กวางจุงเมื่อเกิดกระแสการลุกขึ้นสู้ของชาวนาที่ไตเซินและพื้นที่ใกล้เคียง วีรกรรมการสู้รบของเหวียน เว้และพี่น้อง รวมทั้งภาพจิตรกรรมชิ้นหนึ่งที่ถือว่าเป็นวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ของสองประเทศคือสยามและเวียดนามเป็นภาพเรือพายอนันตนาคราชซึ่งเสมือนสัญลักษณ์ของกรุงสยาม ที่เรารับรู้กันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ส่งทัพเรือไปช่วยรบ ถูกกองเรือท้องถิ่นตีแตกพ่ายทําลายในน่านน้ำทะเลเวียดนาม อันเป็นการบ่งถึงประวัติศาสตร์อีกมุมหนึ่งของผู้เฝ้ามองจากภายในซึ่งอาจจะผิดหรือถูกในข้อเท็จจริงก็ได้ แต่ที่สําคัญคือ ภาพเขียนเหล่านั้นได้ทําหน้าที่แสดงออกอย่างเงียบๆ ในการกระตุ้นความรักชาติให้ก่อเกิดแก่ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ชาวเวียดนามทั้งหลายและนอกจากนี้ พื้นที่บริเวณโดยรอบนอกจากอนุสาวรีย์กษัตริย์กวางจุงนําทัพซึ่งอยู่ด้านหน้าแล้ว ข้างๆ อาคารพิพิธภัณฑ์คือศาลเจ้าของตระกูลเหวียนและอนุสรณ์ที่รําลึกอื่นๆ เช่น ต้นมะขามอายุกว่าสามร้อยปี บ่อน้ำ สวนส้มของเหวียน เว้ เป็นต้น สิ่งเหล่านั้นไม้ต้องใช้การจัดแสดงแต่อย่างใด ความหมายที่แฝงเร้นอยู่ก็เพื่อให้เห็นชีวิตคนธรรมดาที่เรียบง่าย ไม่ต้องมีอภินิหารเหนือมนุษย์ เพราะนี่คือกษัตริย์ชาวบ้านที่แข็งแกร่งพอจะเป็นผูนําการปลดปล่อยชาวนาที่ทุกข์ยากซึ่งเป็นผู้คนพื้นฐานของประเทศและสามารถรวมชาติเวียดนามเป็นหนึ่งเดียวการยึดครองเวียดนามจนกลายเป็น "อินโดจีนของฝรั่งเศส" ระหว่าง พ.ศ. 2401-2483 และการเข้ายึดครองโดยญี่ปุ่นระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกว่า 5 ปี เมื่อ พ.ศ. 2483-2488 จนกระทั่งเกิด "สงครามอินโดจีน" เพื่อต่อต้านการกลับเข้ามาของฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2488 - 2499 ทําให้เวียดนามต้องกลายเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีสงครามยืดเยื้อยาวนานและไม่จบสิ้น การเอาชนะฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูสําเร็จนําไปสู่การเจรจาสงบศึก จากสงครามนี้เวียดนามถูกแบ่งแยกออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ที่บริเวณเส้นขนานที่ 17 องศาเหนือ
ผู้นําสําคัญอีกท่านหนึ่งของเวียดนามคือ "โฮจิมินห์" เลือกที่จะใช้ระบบสังคมนิยมแก่เวียดนามเหนือหรือเวียดมินห์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่พยายามทําอย่างเดียวกับกษัตริย์กวางจุง นั่นคือการรวมเวียดนามและสิ่งที่ประสงค์ที่สุดคือ "เวียดนามต้องเป็นหนึ่งเดียว"ความพยายามรวมชาติของ "ลุงโฮ" ยังไม่เป็นผลสําเร็จ จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาขยายการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย สงครามเวียดนามจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง คราวนี้หนักหนาและปวดร้าวเกินกว่ามนุษย์จะกระทําต่อมนุษย์ด้วยกันเมื่ออเมริกาแพ้สงครามถอนทัพกลับไป เวียดนามยังคงทําสงครามเพื่อต่อต้านการเข้ามาของเขมรแดงตามแนวชายแดนจึงมีการบุกเข้าไปในกัมพูชา จนถึงปัจจุบัน เวียดนามเริ่มฟื้นจากสงครามอันยาวนาน พยายามสร้างความปรองดองทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลากหลายแก่ผู้คนมากกว่า 50 ชาติพันธุ์ และในที่สุดก็เริ่มรับระบบและค่านิยมบางอย่างจากตะวันตกอย่างช้าๆในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเวียดนาม กษัตริย์กวางจุง ผู้นํากบฏไตเซินคือวีรบุรุษชาวนาผู้รวมประเทศเวียดนามได้ครั้งแรกอย่างแท้จริง ส่วนลุงโฮ หรือโฮจิมินห์ ผู้ที่ชาวเวียดนามทุกคนต้องมีรูปท่านประดับบ้านไว้เสมอคือผู้พยายามรวมชาติเวียดนามคนต่อมาจากประสบการณ์ของการถูกกดขี่และความแตกแยกภายในชาติโดยถูกรุกรานจากผู้อื่น สิ่งที่ชาวเวียดนามตระหนักก็คือวีรบุรุษย่อมคู่กับความรักชาติเสมอและวีรบุรุษของเวียดนามนั้นแสวงหา "อิสรภาพ เสรีภาพ และความสุข"หรือ Độc lập – Tự do – Hạnh phúc=ดอบ หลับ ตื่อ ยอ หั่น ฟุ๊ก อันเป็นอุดมคติอันสูงสุด เป็นคำขวัญของประเทศ และในหนังสือราชการ หัวบรรทัดแรกเขาจะใส่คำขวัญนี้ทุกครั้งเสมอ
ที่มา:http://www.lek-prapai.org
No comments:
Post a Comment